ความทรงจำไม่คลาย
"เป็นความปรารถนาของข้าพเจ้า ว่าสถานที่แห่งนี้ ควรจะเป็นชื่อของพระองค์ (เจ้าชายอัลเบิร์ต, Prince Albert) เพราะ ฮอลล์นี้เกิดขึ้นได้ก็จากพระองค์ท่าน จึงควรจะเรียกว่า รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เพื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ (The Royal Albert Hall of Arts and Sciences)” นี่เป็นพระราชดำรัสของ สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย (Queen Victoria) ในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1867 หรือเมื่อ 150 ปีมาแล้ว และจนปัจจุบันนี้ รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ ยังตั้งตระหง่าน เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่แห่งวงการศิลปะ ความยิ่งใหญ่แห่งรักที่สมเด็จพระราชินีนาถมีต่อพระสวามี เป็นความทรงจำที่ไม่มีวันคลายลงได้เลย ในบริเวณที่เรียกขานกันว่า เขตของอัลเบิร์ต (Albertopolis) กลางมหานครลอนดอน
ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมสถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงความรักของทั้งสองพระองค์มาแล้ว 2 ตอน กับพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum) และในตอนสุดท้ายของ “อัลเบิร์ตอนุสรณ์” นี้ จะไม่สมบูรณ์ลงได้เลยหากเราจะไม่ได้ไปชมรอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ และอนุสรณ์สถานของเจ้าชายผู้เป็นที่รัก
รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เป็นสถานที่จัดแสดงแบบที่เรียกกันว่า คอนเสิร์ต ฮอลล์ โดยจะรับจัดแสดงเฉพาะการแสดงที่สำคัญ ผู้มาเยือนสามารถจับรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงที่สถานี เซาท์ เคนซิงตัน (South Kensington) เมื่อเดินไปทางมุมด้านเหนือ ก็จะได้เห็นอาคารสีอิฐ รูปทรงกลมขนาดใหญ่ ที่นี่เอง คือสถานจัดแสดงที่มีที่นั่งรองรับผู้ชมได้มากถึง 5,272 ที่
(บรรยายภาพ - รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ โดมทรงกลมขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเป็นสถานที่แสดงคอนเสิร์ตสำคัญๆ)
นับตั้งแต่วางศิลาฤกษ์ไปในปี ค.ศ.1867 และก่อสร้างเสร็จ จนเปิดให้บริการใน ค.ศ.1871 ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียก็ได้เสด็จมาในพิธีเปิดด้วยพระองค์เองนั้น สถานที่แห่งนี้ ก็กลายเป็นเหมือนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เหล่าศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลกใฝ่ฝันจะมาเปิดการแสดงในฮอลล์สำคัญนี้สักครั้ง โดยที่ผ่านมา มีการจัดการแสดงแล้วทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดนตรีของศิลปินป๊อป ร็อค หรือแนวการแสดงอื่นๆ เช่น บัลเล่ต์ โอเปรา เป็นฉากภาพยนตร์ เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงการกุศล ฯลฯ เรียกได้ว่า รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เปิดรับทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางแห่งการจัดงานสำคัญต่างๆ จริงๆ โดยในแต่ละปีที่มี 365 วันนั้น รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ รับจัดงานใหญ่ปีละร่วม 800 งาน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการจัดงานด้านนอกฮอลล์ ซึ่งก็มีพื้นที่กว้างขวาง และปัจจุบันนี้ แผ่นหินศิลาฤกษ์ที่ทำพิธีวางไว้ ยังมีให้เห็นได้ที่บริเวณใต้ที่นั่งแถว 11 เลขที่ 87
(บรรยายภาพ - ประตูทางเข้ารอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เมื่อมองออกไปไม่ไกล จะเห็นอนุสรณ์สถานเจ้าชายอัลเบิร์ตอยู่อีกฝั่งถนน)
รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ แห่งนี้ ควบคุมการก่อสร้างโดยกัปตัน ฟรานซิส ฟอว์ค (Francis Fowke) และ เฮนรี สก็อตต์ (Henry Y.D.Scott) การออกแบบ ได้รับอิทธิพลจากโรงละครกรีกโบราณ สร้างด้วยอิฐสีแดงเป็นหลัก ประดับประดาด้วยกระเบื้องดินเผา โดมกลมด้านบนเป็นโครงสร้างเหล็ก ส่วนบัวใต้หลังคาซึ่งมีความยาวรอบวง 800 ฟุตนั้น ประดับกระเบื้องโมเสค
แต่แม้จะออกแบบ และก่อสร้างกันมาเป็นอย่างดี และระมัดระวัง ทว่า หลังจากเปิดให้บริการเพื่อการจัดแสดงคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการ เมื่อ 29 มีนาคม ค.ศ.1871 ก็พบว่า มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น คือระบบเสียงที่มีเสียงสะท้อนดังมากในส่วนจัดแสดง เรียกว่า ไม่ว่าจะมีการแสดงอะไร ก็จะได้ฟังกัน 2 หนติดๆ จากเสียงสะท้อน จนต้องระดมกำลังกันแก้ไขโดยด่วน ด้วยการทำแผ่นดูดซับเสียงสะท้อนห้อยไว้ด้านบน ส่วนที่ห้อยมาเพื่อดูดซับเสียงนี้ เป็นรูปทรงกลม ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า เจ้าเห็ด ซึ่งเริ่มแรกเดิมที ใส่เห็ดเข้าไป 135 อัน แต่ต่อมาเมื่อสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านเสียงได้ดีขึ้น ก็สามารถลดจำนวนเห็ดลงเหลือ 85 ชิ้นได้ใน ปี ค.ศ.2001 แต่ถึงกระนั้น เห็ดพวกนี้ก็ยังเป็นของที่ผู้ชมจะคอยมองหาอยู่เสมอว่าห้อยมาจากตรงไหนบ้าง
อันที่จริง เมื่อแรกเริ่มเดิมทีที่มีแผนการจะก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ คณะทำงานเคยตั้งชื่ออาคารนี้ว่า หอกลางแห่งศิลปะและวิทยาศาสตร์ (Central Hall of Arts and Sciences) แต่ในพิธีวางศิลาฤกษ์ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อระลึกถึงเจ้าชายอัลเบิร์ตดังได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นพระราชประสงค์ โดยในขณะวางศิลาฤกษ์นั้น สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ยังไม่คลายจากความเศร้าโศกเสียพระทัย ที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีได้สวรรคตไปก่อนหน้านั้น 6 ปี ด้วยไข้ไทฟอยด์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1861 ตอนมีพระชนมายุได้เพียง 42 ชันษา และจะว่าไป สมเด็จพระราชินีนาถไม่เคยคลายความโศกเศร้าเลยตราบพระชนม์ชีพของพระองค์
แต่หากจะบอกว่า การใช้พระนามเจ้าชายอัลเบิร์ตมาเป็นชื่อสถานที่ จะเป็นเพราะความรัก ความระลึกถึงของสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเดียว ก็คงจะไม่ถูก เพราะดังที่สมเด็จพระราชินีนาถมีพระราชดำรัสว่า ฮอลล์นี้เกิดขึ้นได้ก็จากพระองค์ท่าน ก็เป็นเรื่องจริงตามนั้นคือ สถานที่สำคัญๆ ในเขตของอัลเบิร์ตนั้น สร้างขึ้นมาจากพระปรีชาของเจ้าชายโดยแท้ การใช้พระนาม จึงเป็นการถวายพระเกียรติในพระปรีชาด้วย
เรื่องนี้คงต้องย้อนไปในช่วงที่เจ้าชายอัลเบิร์ตยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ให้ความสนพระทัยอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และเพื่อจะส่งเสริมอุตสาหกรรม เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นต้นคิดที่จะจัดงานแสดงสินค้าครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แรกเริ่มเดิมที ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย ต่อต้านแนวคิดของพระองค์กันเยอะอยู่ แต่ท่ามกลางกระแสต่อต้านนั้น เจ้าชายเดินหน้าอย่างไม่ย่นย่อ จนสามารถจัดงานนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ (Great Exhibition) ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1851
งานนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่นี้ จัดขึ้นที่คริสตัล พาเลส (Crystal Palace) ในสวนไฮด์ (Hyde Park) ซึ่งได้มีการชักชวนให้ผู้ประกอบการต่างๆ ทั่วโลก มาจัดแสดงผลงาน ซึ่งก็ปรากฎว่า มีผู้มาร่วมจัดการแสดงสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ มากถึง 13,000 ซุ้ม มีผลงานด้านอุตสาหกรรมมาแสดงมากกว่าแสนชิ้น โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลงานอุตสาหกรรมของอังกฤษเอง
งานที่ทีแรกมีคนบอกว่า น่าจะเหลวไม่เป็นท่านี้ กลับประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง จากที่ว่าจะจัดแป๊บเดียว ก็ต้องเปิดงานให้ผู้คนเข้าชมนานถึง 5 เดือนครึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1851 ถึงวันที่ 11 ตุลาคมปีเดียวกัน และแม้ในขณะนั้น ประชากรอังกฤษจะมีน้อยกว่า 20 ล้านคน แต่ราว 1 ใน 3 ของประชากรก็มาชมงานนี้ กล่าวคือ มีผู้ผ่านประตูเข้าชมงานอย่างเป็นทางการมากถึง 6,039,195 คน ถือเป็นการแสดงการค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว ทำเอางานนี้ กำไรเพียบ และกลายเป็นต้นแบบการจัดงานแสดงสินค้า หรือนิทรรศการที่เรามักจะเรียกกันว่าเอ็กซโป ในปัจจุบันนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จนี้ ยังทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างสถานที่ถาวรเพื่อเป็นศูนย์กลางศิลปะต่างๆ
กำไรจากการจัดงานนี้เองค่ะ ที่เจ้าชายอัลเบิร์ตได้ทรงแนะนำให้นำมาซื้อที่ดินแถวๆ หมู่ถนนเอ็กซิบิชั่น (Exhibition Road) และทำให้เรียกขานบริเวณนี้กันว่า เขตของอัลเบิร์ต หรืออัลเบิร์ตโตโปลิส แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้ มีคนเรียกแบบนี้น้อยลง เพราะมักจะเรียกกันรวมๆ ว่าเป็นย่านเซาท์ เคนซิงตันมากกว่า แต่ถึงกระนั้น เมื่อที่ดินที่ซื้อมาได้นำมาจัดสร้างเป็นสถานที่สำคัญต่างๆ ก็ได้นำพระนามมาตั้งชื่อ ทำให้พระนามเจ้าชายอัลเบิร์ตไม่หายไปไหน แต่กลายเป็นแหล่งสำคัญในบริเวณนี้ให้เราได้มาเยี่ยมชมกัน และได้ระลึกถึงพระปรีชา บวกกับความรักและระลึกถึงของสมเด็จพระราชินีนาถ
สถานที่อีกแห่งหนึ่งในอัลเบิร์ตโตโปลิส ที่จะทำให้เราเห็นภาพของเจ้าชายอัลเบิร์ตอย่างชัดเจนขึ้น ต้องเดินไปอีกหน่อย ไม่ห่างจากรอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ เข้าไปที่สวนเคนซิงตัน (Kensington Garden) ก็จะพบ อนุสรณ์สถานอัลเบิร์ต (Albert Memorial) ซึ่งเป็นศิลปะแบบวิคตอเรียน กอธิค ซึ่งหากมองดีๆ ก็จะอยู่ตรงข้ามกับรอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์นั่นเอง เรียกว่า แค่ข้ามถนนแคบๆ ที่คั่นกลางอยู่ ก็ถึงแล้ว
อนุสรณ์สถานอัลเบิร์ตเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงสูง รวมความสูงทั้งหมด 54 เมตร ด้านบนสุด มีสัญลักษณ์ไม้กางเขน ส่วนด้านในอาคารที่เปิดโล่งนั้น มีพระบรมรูปหล่อของเจ้าชายอัลเบิร์ตสีทองตระหง่านอยู่ พระบรมรูปหล่อนี้ เจ้าชายอัลเบิร์ตประทับ (นั่ง) หันพระพักตร์เฉียงๆ ไปทางรอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ ในพระหัตถ์ถือเอกสารเล่มหนึ่ง ซึ่งก็คือสูจิบัตรของงานนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นความสำเร็จจากพระปรีชาของพระองค์นั่นเอง
(บรรยายภาพ - อนุสรณ์สถานของเจ้าชายอัลเบิร์ต)
(บรรยายภาพ - พระบรมรูปเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่ประดิษฐานภายในอนุสรณ์สถาน เป็นสีทองอร่าม)
พระบรมรูปนี้เป็นพระบรมรูปบรอนซ์ ซึ่งก่อนจะมีการนำพระบรมรูปจริงมาประดิษฐานไว้ตรงนี้ ได้เคยมีการนำรูปจำลองมาทดลองวางไว้ให้สมเด็จพระราชินีนาถได้ทอดพระเนตรจนพอพระราชหฤทัยก่อน ถึงจะมีการหล่อจริงๆ และนำของจริงมาไว้ในปี ค.ศ.1875 ปัจจุบันก็อยู่มานานตั้ง 142 ปีแล้ว และพระบรมรูปเองก็เปลี่ยนไปจากดั้งเดิม ในแง่ที่ว่า ได้มีการปิดทองคำเปลวในการบูรณะภายหลัง ทำให้องค์เจ้าชายเป็นสีทองมลังเมลืองอย่างที่เห็น
อนุสรณ์สถานนี้ ออกแบบโดยจอร์จ กิลเบิร์ต สก็อตต์ (George Gilbert Scott) ซึ่งนอกจากจะมีพระบรมรูปหล่อของเจ้าชายแล้ว รอบนอกยังเป็นฐานหินอ่อน แกะสลักภาพไว้มากมาย ทั้งนักดนตรี ศิลปิน สถาปนิค นักประพันธ์เพลง ฯลฯ อีก 187 ภาพอยู่โดยรอบ ในขณะที่ใต้ฐานอนุสาสรีย์ มีห้องใต้ดิน ที่มีส่วนโค้งจำนวนมาก เพื่อรองรับน้ำหนัก
จุดเด่นอีกจุดที่สำคัญของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ คือ รูปแกะสลักที่วางเอาไว้ 4 มุมของอนุสรณ์สถาน เป็นการสื่อทวีปทั้ง 4 คือ ยุโรป เอเชีย อาฟริกา และอเมริกา โดยมีสัตว์ที่เป็นตัวแทนของแต่ละทวีป บวกกับรูปสลักบุคคลที่มีลักษณะเด่นของทวีป กล่าวคือ ในแท่นของยุโรปเป็นภาพวัวกระทิงและหญิงสาว ส่วนแท่นเอเชีย มีช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ แถมยังมีภาพบุคคลที่ดูออกจีนและแขกอยู่ร่วมกัน และเมื่อหันไปต่อที่แท่นแห่งอาฟริกาก็ได้เจออูฐ แถมมีสฟิงค์มานั่งรวมอยู่ด้วย สุดท้ายที่แท่นอเมริกา ก็มีควายไบซันมาเป็นตัวแทน บวกกับคนที่สื่อถึงความเป็นอินเดียนแดง เจ้าของทวีปดั้งเดิม
(บรรยายภาพ - ภาพสลักที่มุมทั้ง 4 ของอนุสรณ์สถาน เป็นภาพแสดงทวีปทั้ง 4 ภาพนี้คือ ตัวแทนของอเมริกา อันมีควายไบซันเป็นสัตว์สัญลักษณ์)
(บรรยายภาพ - วัวกระทิง เป็นตัวแทนยุโรป)
(บรรยายภาพ - อูฐ เป็นตัวแทนอาฟริกา)
การมีสัญลักษณ์ของทวีปทั้งสี่ ก็เป็นการสื่อว่า ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียนั้น อังกฤษได้แผ่ขยายอำนาจไปทั่วทุกทวีปนั่นเอง
อันที่จริง ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างอนุสรณ์สถานอัลเบิร์ตในรูปลักษณะแบบนี้ขึ้น ได้มีการหารือในหมู่คณะกรรมการที่จะสร้างสิ่งสำคัญเพื่อระลึกถึงเจ้าชายอัลเบิร์ตกันยกใหญ่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1862 หลังการสิ้นพระชนม์เพียงไม่นานนัก แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ก็มีการเสนอให้สร้างโน่น สร้างนี่เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ โอเบลิคส์ ฯลฯ แต่ก็มาลงตัวที่อนุสาวรีย์พร้อมพระบรมรูปหล่ออย่างที่เห็นกันนี้ ซึ่งก็เป็นทั้งตัวแทนความรัก ความระลึกถึงที่สมเด็จพระราชินีนาถมีต่อพระสวามี และเป็นตัวแทนผลงานของเจ้าชายได้เป็นอย่างดี โดยอนุสรณ์สถานอัลเบิร์ตนี้ ใช้เวลาสร้างนาน 10 ปี ด้วยงบประมาณ 1.2 แสนปอนด์
เราคงไม่อาจทราบได้เลยว่า หลังจากที่เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ไปแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย “ราชินีม่าย” ผู้ระทมทุกข์ ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรอนุสรณ์สถานแห่งนี้บ่อยครั้งแค่ไหน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่เพียงแค่อนุสรณ์สถานแห่งนี้เท่านั้น แต่สมเด็จพระราชินีได้โปรดให้สร้างพระบรมรูปหล่อของพระสวามีไว้อีกหลายแห่ง เป็นความระลึกถึงที่ไม่เคยจางหายไป ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราได้เห็น พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต, รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ และอนุสรณ์สถานของเจ้าชายอัลเบิร์ต เราจึงไม่เพียงแต่จะมองเห็นสิ่งก่อสร้าง แต่ยังสามารถมองลึกเข้าไปถึงความรักแห่งราชวงศ์ รักของสมเด็จพระราชินีนาถ รักที่ก่อกำเนิดพระราชโอรส-ธิดา มากถึง 9 พระองค์ รักที่ไม่เคยจางจากพระราชหฤทัยจอมนางตราบวันสิ้นพระชนม์ และอนุสรณ์แห่งรักหลายสิ่ง ก็ได้กลายมาเป็นสาธารณประโยชน์ สมกับที่เจ้าชายอัลเบิร์ตมีความปรารถนาที่จะพัฒนาประเทศให้รุ่งเรือง
ด้วยอนุสรณ์เหล่านี้ เราจะได้รำลึกถึงรักแท้ และความทรงจำที่ไม่มีวันเลือนหายไปตลอดกาลของทั้งสองพระองค์ และเพื่อเป็นของแถมสุดท้าย ผู้เขียนได้เดินทางต่อไปที่สถานจัดแสดงภาพบุคคลแห่งชาติ (National Portrait Gallery) ที่บริเวณจัตุรัสทราฟัลการ์ (Trafalgar square) กลางมหานครลอนดอน เพื่อเก็บ “ภาพคู่” ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย และเจ้าชายอัลเบิร์ตพระสวามีมาฝากแฟนานุแฟน เป็นงานสลักฝีมือวิลเลียม ทรีด (William Theed) ที่ทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1863-7 ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าชายอัลเบิร์ตได้สิ้นพระชนม์ไประยะหนึ่งแล้ว แต่ในรูปนี้ ได้ประดิษฐ์เป็นพระบรมรูปที่ทั้งสองพระองค์อิงแอบกันอยู่ สมเด็จพระราชินีนาถวางพระหัตถ์ซ้ายลงบนพระหัตถ์ของพระสวามี สายพระเนตรทอดสบกัน เหมือนกันว่า ไม่เคยจากกันไปไหนเลยตราบกาลนาน เช่นเดียวกับความรักของทั้งสองพระองค์
(บรรยายภาพ - “ภาพคู่” ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย และเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งจัดแสดงที่ National Portrait Gallery - ภาพนี้ ถ่ายเองค่ะ แสงไม่ค่อยสวยเท่าไหร่)
อัลเบิร์ตอนุสรณ์ (3) ความทรงจำไม่คลาย // รีวิวเที่ยวลอนดอน
หมายเหตุ - เรื่องนี้ ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ต่วย'ตูน ฉบับเดือนเมษายน 2559 โดยผู้เขียนได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาที่บางกอกโพสต์ให้เขียนเพื่อเป็นการระลึกถึง "คุณวาทิน ปิ่นเฉลียว" หรือ "ลุงต่วย" อดีตบรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร ต่วย'ตูน พิเศษ ใช่ช่วงที่คุณลุงท่านเสียชีวิต เลยเขียนเรื่องชุดนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณลุงผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ได้ออกไปเที่ยวรอบโลกค่ะ
สำหรับตอนที่ 1 ดูได้ที่
https://kungmee.blogspot.com/2017/11/1.html
และตอนที่ 2 ดูได้ที่
https://kungmee.blogspot.com/2017/11/2-2-albertopolis-prince-albert-queen.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น